เกี่ยวกับฉัน

Blog Archive

Friday, February 19, 2010
ว่าเรื่องเกี่ยวกับสำเพ็งมามากผมก็เลยหาประวัติมาให้อ่านกันครับ อาจจะไดู้รู้จัก สำเพ็งกันมากขึ้นครับ



จากประวัติ “สำเพ็ง” เป็นชุมชนชาวจีน และย่านธุรกิจ ที่เปรียบเสมียน “ศูนย์การค้า” แห่งแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานควบคู่กับกรุงเทพมหานคร ตราบถึงปัจจุบันนับเป็นเวลากว่า 20 ทศวรรษ

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีในพุทธศักราช 2325 พระองค์ทรงโปรดให้ชาวจีนซึ่งตั้งหลักแหล่งอยู่ที่ท่าเตียน และบริเวณใกล้เคียงมาตั้งแต่สมัยธนบุรีไปอยู่สำเพ็ง ซึ่งนอกเขตกำแพงพระนครทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ โดยมีอาณาบริเวณตั้งแต่คลองวัดสามปลื้ม (วัดจักรวรรดิราชาวาส) จนถึงคลองวัดสามเพ็ง (วัดปทุมคงคา) ทั้งนี้เพื่อใช้ที่ดินเดิมซึ่งเป็นที่ดอน และอยู่กึ่งกลางพระนคร เป็นที่ตั้งของพระบรมมหาราชวัง ศูนย์กลางการบริหารราชการแผ่นดินของราชวงศ์ใหม่ กับทั้งเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของทางการไทยในการควบคุมชาวต่างชาติ ให้ตั้งชุมชนอยู่เรียงรายนอกเขตกำแพงพระนคร เป็นการป้องกันมิให้ท้าทายอำนาจทางการเมืองได้ง่าย อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

คำว่า “สำเพ็ง” กาญจนาคพันธุ์ได้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า อาจมาจากมีคนชื่อ “เพ็ง” 3 คนบริเวณนี้ จึงเรียกว่า “สามเพ็ง” หรอ “สำเพ็ง” หนังสือเล่าเรื่องเก่าของไทย ของ สมพงษ์ เกรียงไกรเพชร์ สันนิษฐานไว้ว่า เป็นเพราะบริเวณสามเพ็ง เป็นสวน มีคลองขวางสองคลองคือ คลองเหนือวัดสามเพ็ง กับคลองวัดสามปลื้ม ทำให้พื้นที่แบ่งออกเป็นสามตอน หรือสามแผ่นซึ่งคนจีนเรียกเพี้ยนมาเป็น สามเพ็ง ส. พลายน้อย สันนิษฐานไว้ในหนังสือ “บางกอก” ว่าแต่ก่อนบริเวณนั้นคงเป็นที่น้ำลึก หรือเป็นทางสามแพ่ง ซึ่งชาวจีนเรียกเพี้ยนเป็นสามแพ่ง และสำเพ็งในที่สุด “บุปผา คุมมานนท์” กล่าวไว้ใน “สำเพ็งศูนย์การค้าแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์” ในหนังสือศิลปวัฒนธรรมว่าสำเพ็งเป็นชื่อที่เรียกเพี้ยนมาจากคำว่า “สามเพ็ง” ซึ่งเป็นชื่อวัดและชื่อคลอง ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน อาจเป็นเพราะคนจีนในบริเวณนั้นเคยชินกับการออกเสียงสั้นๆจึงทำให้ “สามเพ็ง” กลายเป็น “สำเพ็ง” ในที่สุด

ความจริงชาวจีนอพยพเข้ามาในเมืองไทยเป็นจำนวนมากตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงต้น สมัยรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. 2025-2329) เพราะปัญหาทางด้านการเมือง การปกครอง และเศรษฐกิจ และความอดอยากยากแค้นในประเทศจีน ขณะที่ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ มีความปลอดภัยทางการเมือง กอปรกับรัฐต้องการให้ชาวจีนมาช่วยสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจเพราะชาวจีนมี ความรู้และประสบการณ์ด้านการค้าขาย การต่อเรือ และการเดินเรือ การที่ชาวจีนส่วนใหญ่เข้ามาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินในสำเพ็ง เป็นผลทำให้สำเพ็งเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นย่านธุรกิจการค้าที่สำคัญแห่งแรกของกรุงเทพฯ ในช่วงสมัยนั้น ต่อมาเมื่อประเทศไทยมีการทำสนธิสัญญากับประเทศตะวันตก โดยเริ่มจากสนธิสัญญาบาวริง กับประเทศอังกฤษเป็นประเทศแรกในปี พ.ศ. 2398 ทำให้ชาวจีนจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาในเมืองไทยอีกระลอก โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้เปิดการเดินเรือรับส่งผู้โดยสารระหว่างกรุงเทพฯกับซัวเถาโดยตรง สัปดาห์ละ 1 ครั้ง การเดินทางจึงสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะไม่ต้องอ้อมประเทศสิงคโปร์ดังแต่ก่อน นอกจากนี้ชาวจีนบางคนซึ่งเข้ามาอยู่ก่อนหน้านี้ ได้ทำหน้าที่คนกลางนำชาวจีนเข้ามาขายแรงงานในเมืองไทย โดยออกทุนเดินทางให้ก่อน แล้วให้จ่ายเงินคืนภายหลัง เมื่อได้ค่าจ้างแรงงานแล้ว ชาวจีนเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็อพยพเข้ามาในสำเพ็ง ซึ่งเกือบทั้งหมดประกอบอาชีพค้าขายตามถนัด ตามความสามารถ ทุน และความสนใจ ส่วนผู้ไม่มีทุนก็รับจ้างแบกหามสินค้า มีคลองใต้วัดสามปลื้ม และคลองเหนือวัดสำเพ็ง ทำให้การขนส่งสินค้าอยู่ในแถบจักรวรรดิและวัดสามปลื้มคึกคัก และคนจีนแถวนี้มักไปจ่ายตลาดโดยเรือ ข้ามไปสำเพ็ง สินค้าที่สำเพ็งส่วนใหญ่ มาจากเมืองจีน โดยเรือสำเภาของชาวจีนเป็นส่วนมาก บางส่วนนำเข้ามาโดยเรือสำเภาหลวง และเรือสำเภาของเจ้านายกับขุนนางผู้ใหญ่ เรือสำเภาของชาวจีนจอดเรียงแถวตามยาว จากแนวปากคลองรอบกรุงลงไปทางใต้ วันไหนมีเรือมากก็จะจอดซ้อนกันเป็น 2 แถว หลังสนธิสัญญาบาวริง ไทยค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น เรือสินค้าเข้ามาที่กรุงเทพฯมากขึ้นด้วย พ่อค้าก็จะจอดเรือเรียงรายกันไป ต่างก็นำสินค้ามาวางขายบนดาดฟ้าเรือ การค้าแบบนี้จะดำเนินไปเป็นเวลาหลายชั่วโมง หลังจากนั้นพ่อค้าก็จะนำสินค้าที่เหลือไปจำหน่ายยังห้างร้านค้าในสำเพ็ง ซึ่งเป็นแหล่งค้าขายที่ใหญ่ที่สุดของชาวจีนในสมัยนั้น

สมัยรัชกาลที่ 5 มีการตัดถนนหลายสายผ่านบริเวณสำเพ็ง ทำให้การค้าย่านนี้สะดวกขึ้นอย่างรวดเร็ว ถนนสายสำคัญที่แทบจะกล่าวได้ว่าเป็นถนนของคนจีนก็คือ ถนนสำเพ็งแห่งนี้ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ถนนจักรเพชร ตรงข้ามกับตรอกสะพานหัน ต่อกับถนนพาหุรัด เกือบขนานกับถนนเยวราช ผ่านถนนจักรวรรดิ ที่ตำบลหัวเม็ด ผ่านถนนราชวงศ์ ข้ามถนนราชวงศ์ไปทางใต้จนถึงถนนโยธา ผ่านตำบลวัดสัมพันธวงศ์ ออกถนนทรงวาด ตรงไปผ่านวัดปทุมคงคา ถนนสายนี้กว้าง ประมาณ 3 เมตร ยาว 1950 เมตร รถแล่นผ่านไปมาไม่ได้ ทั้งสองข้างถนนเรียงรายไปด้วยร้านค้าขาย ซึ่งล้วนเป็นของคนจีน พ่อค้าที่สำเพ็งนอกจากค้าขายในย่านนี้แล้วยังขายส่งโดยติดต่อกับพ่อค้าหัว เมืองต่างๆอีกด้วย ส่วนพ่อค้าที่อื่นซึ่งส่งสินค้าจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่ต้องติดต่อกับคนจีนในสำเพ็งให้ช่วยรับสินค้าส่งออกไปจำหน่ายต่ออีก ทอดหนึ่ง ในการขนส่งสินค้านั้น มักใช้หาบกับรถเข็น สำเพ็งเป็นศูนย์การค้าสำคัญของกรุงเทพฯ ที่ประชาชนสามารถซื้อสิ่งของได้ตั้งแต่ของใช้เล็กๆน้อยๆ ทั้งเครื่องอุปโภคบริโภค เช่น หม้อข้าว หม้อแกง ถ้วยโถโอชาม ภาชนะและของกินเกือบทุกชนิด เช่น ผักผลไม้สด ผลไม้แห้ง ของดอง ยาจีน ผ้าแพรพรรณต่างๆ ทองรูปพรรณ เครื่องใช้ไม้สอยประเภทต่างๆเช่นเครื่องใช้ทำด้วยไม้ลงน้ำมัน เครื่องใช้ในการศึกษาเล่าเรียน เครื่องมือทำจากเหล็กและเครื่องยนต์เรือ เป็นต้น รวมทั้งสินค้าที่ไม่อาจหาได้จากแหล่งอื่น โดยเฉพาะสินค้าที่มาจากเมืองจีน

สำเพ็งเป็นแหล่งขายสินค้าทั้งปลีกและส่ง นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งที่มาของธุรกิจหลายประเภทเช่นการรับจ้างปะชุนผ้า การตัดเย็บเสื้อผ้า การย้อมสีผ้า การรับจ้างขัดรองเท้า การให้กู้ยืมเงินหรือการจ่ายเงินให้ล่วงหน้าแล้วใช้คืนภายหลัง ดังกรณีชาวจีนที่อพยพเข้ามา ตลอดจนการรับจ้างเขียนหนังสือจีน เพื่อส่งไปถึงญาติพี่น้องที่อยู่เมืองจีน การรับจ้างส่งเงินไปให้ครอบครัวที่เมืองจีน นอกจากธุรกิจประเภทดังกล่าว สำเพ็งยังมีธุรกิจให้บริการทางเพศเป็นที่ขึ้นชื่ออีกด้วย โดยมีโคมเขียวเป็นสัญลักษณ์ นอกจานี้สำเพ็งยังมีธุรกิจที่สำคัญอีกประเภทหนึ่งคือ บ่อนการพนัน ซึ่งมีอยู่มากมายหลายอย่างเช่น ไฮโล ถั่ว น้ำเต้า ลูกเต๋า โปสา เป็นต้น ดังนั้นนอกจากจะเป็นย่านที่มีคนทุกเพศทุกวัยมาจับจ่ายซื้อสินค้าแล้ว บางส่วนโดยเฉพาะผู้ชายมักมาเที่ยวย่านแหล่งสำราญทั้งด้านโลกีย์และการพนัน จึงมีบางคนตั้งตนเป็นนักเลง และเซียนการพนัน บางครั้งก็มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกัน ระหว่างผู้เข้าไปเที่ยวกับเจ้าถิ่น หรือระหว่างผู้เข้าไปเที่ยวด้วยกันเอง หรือระหว่างเจ้าถิ่นแต่ละพวกกัน ถึงขั้นทำร้ายร่างกายกันจนต้องตั้งเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เข้าไปรักษาความสงบเรียบร้อย

พ.ศ. 2404 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดฯให้เริ่มกิจการตำรวจนครบาลขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเรียกว่า “กองโปลิศ” มีการจ้างครูชาวยุโรปและชาวมลายูมาฝึกอบรมเพื่อให้ตำรวจนครบาลรู้จักระเบียบ ปฏิบัติแบบสากลในการรักษาความสงบเรียบร้อยในเขตพระนคร กองโปลิศได้เริ่มออกปฏิบัติงานเป็นครั้งแรกในบริเวณสำเพ็ง บริเวณพื้นที่สำเพ็งเปรียบเสมือนเป็นที่พระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอด ฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นย่านชุมชนชาวจีนพวกต่างๆ และมีการขยายตัวทั้งด้านชุมชนพื้นที่ และธุรกิจอย่างกว้างขวาง ซึ่งผู้ประกอบการและผู้อยู่อาศัยในย่านนี้เกือบทั้งหมดเป็นชาวจีน หรือเป็นผู้มีเชื้อสายจีน จึงทำให้ยังคงรักษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมแบบจีนไว้ได้มาก

อาจกล่าวได้ว่า สำเพ็งเป็นไชน่าทาวน์ (china Town) แห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ทั้งในหมู่คนจีน คนไทย และคนชาติอื่นๆ โดยเฉพาะชาวตะวันตก สำหรับคนไทยนั้นมีหลายท่านกล่าวถึงสำเพ็งในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ เช่น กวีเอกสุนทรภู่ ได้กล่าวถึงสำเพ็งไว้ใน “นิราศชมตลาดสำเพ็ง” ขุนวิจิตรมารตรา ในนามแฝง “กาญจนาคพันธุ์” กล่าว ไว้ใน “เมื่อวานนี้” และพระยาอนุมานราชธนได้เล่าไว้ใน “บันทึกความทรงจำ” ของท่านเป็นต้น ในส่วนของชาวตะวันตกนั้น สำเพ็งเป็นสถานที่มิชชันนารีอเมริกัน เข้ามาตั้งหลักแหล่งเพื่อเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนต์ในเมืองไทย ตั้งแต่เริ่มแรกในสมัยรัชกาลที่ 2 โดยเข้ามาเช่าบ้านแถววัดเกาะ สัมพันธวงศ์ ใกล้ตลาดสำเพ็ง ใช้เป็นที่พักเพื่อเผยแพร่ศาสนา ต่อมาเมื่อหมอบรัดเลย์เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3 ก็ได้เข้ามาอยู่ในบ้านเช่าดังกล่าว และได้เปิดที่พักเป็น “โอสถาศาลา” เพื่อแจกและขาย “ยาฝรั่ง” พร้อมๆกับเผยแพร่ศาสนาไปด้วย ต่อมาก็ได้รับรักษาโรค ด้วยวิธีการแพทย์แผนใหม่ตามแบบตะวันตก ปรากฏว่าลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนจีน ส่วนการเผยแพร่ศาสนาก็ได้ผลบ้างในหมู่คนจีนบริเวณนั้น ชาวจีนที่สำเพ็งอยู่กันอย่างแออัด ส่งผลให้เกิดความสกปรกรุงรัง โดยเฉพาะในบริเวณต่อจากสะพานหันเข้ามาสำเพ็ง เดิมเป็นถนนแคบๆปูด้วยอิฐ สองฟากถนนเต็มไปด้วยโรงเรือน ร้านค้าของคนจีนที่ปลูกกันอย่างเบียดเสียดยัดเยียด ทำด้วยไม้และจาก จึงง่ายต่อการเกิดเพลิงไหม้และลุกลาม ดังนั้นการตัดถนนในบริเวณดังกล่าวนอกจากทำให้สะดวกแล้วยังระงับเหตุร้ายเวลา เกิดเพลิงไหม้อีกด้วย
ขอบคุณบทความดีๆจาก: http://sampengmarket.igetweb.com/index.php?mo=3&art=239791

0 comments:

Post a Comment